วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เรื่องน่ารู้ของปลาไหลเผือก : สมุนไพรคู่ใจพรานไพร คู่กายของชายชาตรี ยาอายุวัฒนะ เสริมพลังชีวิต



เรื่องน่ารู้ของปลาไหลเผือก
: สมุนไพรคู่ใจพรานไพร
 คู่กายของชายชาตรี ยาอายุวัฒนะ
เสริมพลังชีวิต

ที่เรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า "ปลาไหลเผือก" เนื่องจากรากของสมุนไพรชนิดนี้มีลักษณะเหมือนปลาไหลเผือก คือมีสีขาวยาวๆ เหมือนปลาไหลเผือกและยังมีรากเดียว บางครั้งจึงมีคนเรียกว่า พญารากเดียว ซึ่งทางอีสานเรียก เอี่ยน ด่อน (ภาษาอีสานเรียกปลาไหลว่า เอี่ยน ส่วนด่อนภาษาอีสานหมายถึง เผือก) คนอีสานบางท้องที่เรียกปลาไหลเผือกว่า หยิกบ่ถอง ส่วนรากปลาไหลเผือกถ้ามีอายุหลายปี จะมีความยาวมาก บางครั้งยาวมากกว่าความสูงของคนเสียอีก จนทำให้บางท้องที่เรียกปลาไหลเผือกว่า ตรึงบาดาล

ปลาไหลเผือกเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีลำต้นสีแดง ในป่าดงดิบจะสูงประมาณ ๖-๑๕ เมตร แต่ในป่าเต็งรังสูงประมาณ ๑-๓ เมตร ไม่แตกกิ่งก้านทางด้านข้าง จะมีใบอยู่ตรงส่วนยอดของลำต้น ใบยาวประมาณ ๑ เมตร ใบนี้ประกอบด้วยใบย่อยจำนวนมาก ใบย่อยมีขนและรูปร่างเรียวแหลมหรือรูปไข่ ปลายเรียวแหลม ดอกสีแดงยาว ๑๐-๑๕ มิลลิเมตร มีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ ดอกยาวขนาดใกล้เคียงกับความยาวของใบ ผลสีน้ำตาล รูปร่างคล้ายรูปไข่ ขนาดกว้าง ๕-๑๒ มิลลิเมตร ยาว ๑๐-๑๗ มิลลิเมตร



" หลากหลายตำนาน หลากหลายป่า ของ ปลาไหลเผือก "




ปลาไหลเผือก…
สมุนไพรที่ใช้เปรียบเสมือนไม้เท้าของท่านอาลี

…แสดงถึงความทรงพลังและความมีอายุยืน
ชาวไทยมุสลิมภาคใต้จะเรียกปลาไหลเผือกว่า ตงกัท อาลี (Tongkat Ali) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับที่คนมาเลเซียเรียกกัน “ตงกัท” แปลว่าไม้เท้า “อาลี” คือ นักรบที่เก่งกล้า มีพละกำลังแข็งแกร่ง ในประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม ท่านอาลีรบเคียงข้างมากับท่านศาสดานบีมูฮำหมัด (ซ.ล) ดังนั้นชื่อ “ตงกัทอาลี” จึงมีความหมายถึงความทรงพลังและความมีอายุยืน จากการเรียกชื่อเช่นนั้นทำให้เชื่อกันว่า ปลาไหลเผือกเป็นสมุนไพรที่มีการใช้มานานนับพันปีแล้ว ชุมชนในสามจังหวัดภาคใต้ นิยมนำทั้ง “แก่นและราก” ของตงกัทอาลีมาต้มน้ำกินวันละ ๓-๔ ครั้งและก่อนนอน ถือเป็นยาโด๊บชั้นยอด สามารถบำรุงกำลังและบำรุงสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย แม้จะมีรสขมจัดก็ตาม นอกจากต้มกินแล้วบางคนยังใช้ทำเป็นชา ชงกินต่างใบชา เพื่อบำรุงกำลัง นอกจากจะใช้ประโยชน์ในการเป็นยาโด๊บแล้ว “ตงกัท อาลี” ยังใช้ต้มกินเพื่อป้องกันและรักษาไข้ป่า แก้ปวดเมื่อย แก้ปวดทั่วไป



ปลาไหลเผือก...สมุนไพรเพิ่มพลัง
ของพรานไพร และนายฮ้อย

พ่อสมจิต ตีเหล็ก ลูกชายหมอยา ปู่อ่ำ ตีเหล็ก จากจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันพ่อสมจิตมีอายุ ๗๔ ปี พ่อเล่าว่าสมัยก่อนนายฮ้อย หรือผู้ต้อนฝูงควายตระเวนขายตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศไทย ต้องร่อนเร่ข้ามเขา ข้ามห้วย บางครั้งต้องเดินทางผ่านป่าผ่านดงเป็นเดือนๆ สมุนไพรบบำรุงกำลังที่คู่มากับการเดินทางไกลและยาวนานก็คือ ปลาไหลเผือก พวกนายฮ้อยจะใช้รากปลาไหลเผือกต้มน้ำดื่ม ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง อดทน คลายอาการปวดเมื่อย ป้องกันและรักษาอาการไข้ขึ้นระหว่างเดินทาง ทำให้แผลหายเร็วขึ้นด้วย และยังใช้รากปลาไหลเผือกผสมกับสมุนไพรโลดทะนงแดง ทารกวัวรกควายเพื่อเบื่อหมาในที่มักชอบมาขโมยลูกวัวลูกควายคลอดใหม่ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการดื่มน้ำต้มรากปลาไหลเผือกนอกจากเพื่อบำรุงกำลังให้ข้ามเขาข้ามห้วยได้แล้ว ยังกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี บรรเทาอาการผื่นคันบริเวณผิวหนัง
ส่วนพ่อบุญมี ได้ฤกษ์ พรานไพรแห่งป่าเขาใหญ่ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เคยเล่าให้ฟังว่า ในการเดินป่านั้นจะขาดปลาไหลเผือกไม่ได้ เพราะปลาไหลเผือกต้มกินทำให้มีกำลังเดินป่าเดินเขา ใช้รักษาไข้ป่า เวลาที่ปวดท้องอย่างแรง (กระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน) ถ้าใช้ต้มกินหรือเคี้ยวกินทันทีอาการจะหายเป็นปลิดทิ้ง หรือถ้ามีอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะก็ใช้ได้ผล และพ่อบุญมียังเล่าว่ารากปลาไหลเผือกใช้ในการรักษาตัดไข้ แก้พิษทุกชนิด เช่น พิษแมลงสัตว์กัดต่อย พิษฝี ทั้งฝีภายใน ฝีภายนอก และพุพอง พรานสมัยก่อนจึงมักจะมีรากปลาไหลเผือกตากแห้งติดตัวติดบ้านไว้เสมอ



ปลาไหลเผือก…หยิกบ่ถอง
ทำให้หนังเหนียวครา…ออกรบ

ตาส่วน สีมะพริก และคุณบุญล้วน จันทร์นวล เล่าตรงกันว่า ในสมัยก่อนคนที่ออกรบจะต้องพกปลาไหลเผือกติดตัวไปด้วย ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ก่อนเข้าสู่สนามรบให้นำมาเคี้ยวกินจะทำให้อยู่ยงคงกะพัน มีเรี่ยวแรงในการรบ ปลาไหลเผือก จึงได้ชื่อว่า หยิกบ่ถอง อีเฒ่าหนังหยาน ซึ่งมีความหมายของความเป็นคนหนังเหนียว ผิวหนังไม่มีความรู้สึกใดๆ แต่การจะเอารากปลาไหลเผือกมาใช้ต้องทำพิธีขอ แล้วจึงขุดรากขึ้นมา เมื่อขุดรากขึ้นมาเรียบร้อยก็ต้องทำพิธีปลุกเสกอีกครั้ง ถึงจะนำมาใช้ได้ เชื่อว่าเมื่อเคี้ยวกินหรือฝนกิน จะทำให้หนังเหนียวมีพละกำลังมากขึ้น
เป็นที่น่าแปลกใจว่า การศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่าปลาไหลเผือกมีสรรพคุณในการเพิ่มความแข็งแรงของนักกีฬาได้อย่างชัดเจนด้วย



ปลาไหลเผือก…ขมสามดอย ยาดีของไทยใหญ่

มีครั้งหนึ่งเมื่อต้องเดินป่าไปเก็บยาสมุนไพรกับหมอยาไทยใหญ่ ที่ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ พ่อหมอยาได้พาเดินไต่เขาไปสองสันเขา เพื่อไปดูยาสมุนไพรต้นที่มีชื่อว่า ขมสามดอย อันมีความหมายถึงเดินขาลากไปสามดอยแล้วยังไม่หายขม หรือทำให้มีกำลังเดินได้ถึงสามดอยก็ได้ เจอต้นขมสามดอยของไทยใหญ่ก็เป็นต้นเดียวกับปลาไหลเผือกที่คุ้นเคยอยู่แล้ว พ่อหมอยังบอกอีกว่า รากปลาไหลเผือกต้มกินแก้ไข้หนาวสั่น (ซึ่งน่าจะเป็นไข้มาลาเรีย) จะใช้เฉพาะตัวมันตัวเดียวหรือต้มรวมกับงูเห่าเหลือง (เถางูเห่า) ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าใช้รากปลาไหลเผือกต้มกิน ทำให้หนังเหนียว คงกะพัน บำรุงกำลังอย่างยอด



ปลาไหลเผือก …ยาล้างพิษยาเสพติด

ปลาไหลเผือกค่อยๆ ถูกลืมไปพร้อมกับการพัฒนาโรงพยาบาลสมัยใหม่ แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีวัดวาอารามหลายแห่งประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการรักษายาเสพติด โดยนำสมุนไพรแก้พิษของหมอยาโบราณมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย สมุนไพรที่นำกลับมาใช้ใหม่ มาในนามของยาสามรากอันประกอบด้วย รากปลาไหลเผือก รากโลดทะนงแดง ต้นฮังฮ้อน โดยโลดทะนงแดง (นางแซง) มีสรรพคุณ ถอนพิษยาเบื่อเมา ทำให้อาเจียน ทำให้ถ่าย ปลาไหลเผือก (พญารากเดียว) มีสรรพคุณ แก้ไข้ ถ่ายพิษ บำรุงกำลัง ฮังฮ้อน (พญารากไฟ) แก้เลือดไม่เดิน ทำให้เลือดเดินสะดวก ทั้งสามอย่างนี้ใช้แก้อาการลงแดงจากยาเสพติด เอายาสามรากฝนกับน้ำมะนาวกินก่อนอาหาร เช้า-เย็น หรือต้มน้ำดื่มก็ได้ ปลาไหลเผือก…จึงได้รับการพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง
แต่เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวคราวการจดสิทธิบัตรสมุนไพรที่มีอยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในการเป็นยาเพิ่มสมรรถภาพของเพศชายในประเทศสหรัฐอเมริกา… “ปลาไหลเผือก”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น